คุณคงเคยได้ยินเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Agile ซึ่งฟังดูน่าสนใจใช่ไหมหล่ะ คำว่า “Agile” (คล่องแคล่ว) ถือเป็นคุณลักษณะที่ดีของมนุษย์เรา แต่การทำงานแบบ Agile นั้นใช้กับการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไร? ที่ Manao Software เราใช้กระบวนการแบบ Agile มานานหลายปี และเข้าใจถึงประโยชน์ของทฤษฏีที่ยืดหยุ่นนี้ ซึ่งช่วยให้สามารถส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ดีที่สุดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Agile คืออะไร?
หลายคนเข้าใจผิดว่า Agile เป็นเพียงกระบวนการเดียวที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือผู้จัดการโปรเจกต์จะนำไปใช้ แต่จริงๆ แล้ว Agile เปรียบเสมือนหลักการการจัดการโปรเจกต์ ซึ่งได้สร้างเป็นเอกสารแนวทาง ซึ่งประกอบไปด้วยชุดหลักการและค่านิยมที่ใช้ในการสร้าง Framework ต่างๆ สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์และการจัดการโปรเจกต์ แม้ว่า Framework เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจริงก่อนที่จะเขียนแนวทางนี้ก็ตาม
แนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Agile ซึ่งเผยแพร่ในปี 2001 ได้ระบุหลักการสำหรับแนวทางการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทีละน้อย โดยเน้นการส่งมอบอย่างต่อเนื่อง ความยืดหยุ่น และการทำงานร่วมกัน ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการของ Waterfall ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องกันในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การวิเคราะห์ การวางแผน ไปจนถึงการพัฒนา แล้วทำการทดสอบ โดยแต่ละขั้นตอนจะต้องเสร็จสิ้นก่อนถึงจะทำขั้นตอนถัดไป
แนวคิดหลักของค่านิยมที่เป็นพื้นฐานสำหรับหลักการการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Agile ทั้งหมด
- บุคคลและการมีปฏิสัมพันธ์ มีความสำคัญมากกว่ากระบวนการและเครื่องมือ
- ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้ มีความสำคัญมากกว่าเอกสารประกอบที่ครอบคลุม
- การทำงานร่วมมือกับลูกค้า มีความสำคัญมากกว่าการเจรจาสัญญา
- การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มีความสำคัญมากกว่าการยึดติดกับแผน
สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับค่านิยมเหล่านี้ คือ ค่านิยมนี้ไม่ได้ยกเลิกกระบวนการ แผน สัญญา หรือเอกสารประกอบทั้งหมด แต่ค่านิยมนี้กลับให้ความสำคัญกับการส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริงมากกว่าการสร้างเอกสารที่อยู่ในแฟ้มที่ไหนสักแห่ง แต่ไม่มีใครหยิบขึ้นมาอ่าน การมีเอกสารประกอบที่ชัดเจนและมีประโยชน์ยังคงมีความสำคัญ แต่ไม่ควรสร้างขึ้นเพียงเพื่อให้มีเอกสารเท่านั้น เช่นเดียวกับหลักการค่านิยมอื่นๆ เช่น การมีสัญญายังคงมีความสำคัญ แต่ไม่ควรทำให้การทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นไปไม่ได้
การนำค่านิยมเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานจริง มักจะส่งผลต่อการจัดตั้งทีมงานร่วมกัน ซึ่งมักจะมีตัวแทนของลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมด้วย โดยทีมนี้ทำงานเพื่อส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริงสม่ำเสมอค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย แม้ว่าซอฟต์แวร์จะยังไม่พร้อมสำหรับตลาดในช่วงแรกก็ตาม แต่ช่วยทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทำให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้ายตรงตามความต้องการของพวกเขา นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในระหว่างกระบวนการ ตลอดจนช่วยระบุข้อผิดพลาดและปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่แค่ตอนผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายกำลังถูกทดสอบเพื่อส่งมอบ
แนวทางแบบ Agile ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารระหว่างนักพัฒนา ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจตรงกันตลอดกระบวนการ มีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนหรือมีความไม่แน่นอน และโปรเจกต์ที่ต้องการการมีส่วนร่วมของลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องในระดับสูง
ข้อดีของกระบวนการพัฒนาแบบ Agile
กระบวนการพัฒนาแบบ Agile มีข้อดีมากมายที่ทำให้ธุรกิจและนักพัฒนาสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาต้องการสร้างซอฟต์แวร์ที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพสูง
- การลดความเสี่ยง สำหรับธุรกิจ Agile ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความโปร่งใสได้ โดยอนุญาตให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นผลิตภัณฑ์ขณะที่กำลังพัฒนา และให้โอกาสในการแสดงความคิดเห็นตลอดกระบวนการ
- ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น โดยทั่วไป Agile ควรส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ตลาดได้เร็วกว่ากระบวนการ Waterfall แบบดั้งเดิม เนื่องด้วยซอฟต์แวร์รุ่นล่าสุดอาจเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่ในช่วงนั้น แม้ว่าผลิตภัณฑ์สุดท้ายจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม
- การทำงานร่วมกันและความคิดสร้างสรรค์ ตามหลักการ Agile สามารถส่งเสริมการทำงานร่วมกันและความคิดสร้างสรรค์ โดยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- การรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด เนื่องจากกระบวนการพัฒนาแบบ Agile ถูกออกแบบเพื่อให้สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่ามันสามารถรองรับความต้องการใหม่หรือสิ่งที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นได้
- ตรวจสอบคุณภาพตลอดกระบวนการ การควบคุมคุณภาพและการทดสอบจะเกิดขึ้นในแต่ละรอบการทำงาน ซึ่งช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาได้ทันที ไม่ใช่แค่ในขั้นตอนการทดสอบขั้นสุดท้ายเช่นเดียวกับวิธีการแบบดั้งเดิม
- ประสิทธิภาพ คุณค่าของ Agile ถูกออกแบบมาทั้งหมดเพื่อลดงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ช่วยประหยัดเวลาและเงิน กับการส่งมอบผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง
ข้อเสียของกระบวนการพัฒนาแบบ Agile
แม้ว่าวิธีการแบบ Agile ได้รับการพัฒนาขึ้น เพื่อลดปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในวิธีการดั้งเดิมแบบ Waterfall แต่ก็มีข้อเสียบางประการที่อาจทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะจากมุมมองของลูกค้า
- ต้องใช้การปรับตัวอย่างมาก Agile อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการทำงานในลักษณะการวนซ้ำของ Agile อาจสร้างความสับสนให้กับผู้ที่คุ้นเคยวิธีการดั้งเดิมแบบ Waterfall มากกว่า
- ความคาดเดายากในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของโปรเจกต์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะประเมินความคืบหน้าของโปรเจกต์ได้อย่างชัดเจนและแม่นยำ และแผนใด ๆ ที่มอบให้กับลูกค้า ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไประหว่างดำเนินโปรเจกต์ ซึ่งอาจสร้างความกดดัน หากยังไม่คุ้นเคยกับการทำงานในลักษณะนี้ นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่ปัญหาการวางแผนทรัพยากรภายในทีมพัฒนาอีกด้วย
Framework แบบ Agile
หากถามคำถามว่า กระบวนการ Agile คืออะไร? หรือ การเขียนโปรแกรมแบบ Agile คืออะไร? ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากมันไม่ใช่กระบวนการเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อนำกระบวนการพัฒนาแบบ Agile ไปใช้จริง ทีมพัฒนาซอฟต์แวร์จะใช้ Framework หรือกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง หรือหลายกระบวนการ ที่ได้รับการพัฒนาโดยใช้คุณค่าและหลักการสำคัญของ Agile ซึ่งรวมถึง
- Kanban
- Scrum
- Extreme Programming (XP)
- Feature Driven Development (FDD)
- Dynamic Systems Development Model (DMDM)
- Adaptive Software Development (ASD)
- Crystal
- Scaled Agile Framework (SAFe)
บริษัท Manao Software เราใช้ทั้ง Kanban และ Scrum ซึ่งเป็นสอง Framework ที่ใช้การจัดการกระบวนการทำงานและได้รับความนิยมมากที่สุด
Kanban
จริงๆ แล้ว Kanban มีมาก่อนแนวคิด Agile ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและหลักการของมัน Kanban เป็นวิธีการจัดการโปรเจกต์แบบเห็นภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่นช่วงปี 1940 โดย Framework ที่ยืดหยุ่นนี้สามารถทำงานร่วมกับโครงสร้างทีมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเน้นไปที่การจัดหมวดหมู่งานในรูปแบบภาพตามระดับความสมบูรณ์ (รอดำเนินการ กำลังดำเนินการ หรือเสร็จสิ้น) หลักการสำคัญของ Kanban คือ การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง หัวใจสำคัญของหลักการนี้คือแนวคิดเรื่อง “ขีดจำกัดของงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ” ซึ่งหมายความว่าทีมควรทำงานเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อโฟกัสความพยายามและหลีกเลี่ยงภาระงานมากเกินไป แนวทางปฏิบัติหลักอื่น ๆ ของ Kanban ได้แก่ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การแสดงภาพขั้นตอนการทำงาน และการติดตามความคืบหน้า
Scrum
Scrum เป็นวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเบา ที่ถูกออกแบบมาให้ทำงานได้ดีกับทีมข้ามสายงานขนาดเล็ก Scrum ช่วยให้ทีมเคลื่อนผ่านแต่ละขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การวางแผนเบื้องต้นจนถึงการทดสอบขั้นสุดท้ายและการนำไปใช้งาน โดยแบ่งโปรเจกต์ออกเป็น Sprints ระยะสั้น 2-4 สัปดาห์ พร้อมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเป็นประจำ มีบทบาทหลัก 3 บทบาท ได้แก่ Scrum Master,ตัวแทนของลูกค้า, และทีมพัฒนา โดย Scrum Master จะทำหน้าที่ประสานงานกิจกรรมของทีมและติดตามกิจกรรมเหล่านั้นให้ทีมบรรลุเป้าหมาย ส่วนตัวแทนของลูกค้า มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดทิศทางและลำดับความสำคัญโดยรวมของโปรเจกต์ และสุดท้ายคือ ทีมพัฒนามีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างซอฟต์แวร์
Agile ที่ Manao Software
ที่ Manao Software ค่านิยมของเราประกอบด้วยความเข้าใจ คุณภาพ ความเป็นมืออาชีพ ความเคารพ และความโปร่งใส และเราเชื่อว่าค่านิยมนี้จะถูกส่งมอบได้อย่างดีที่สุดผ่าน Agile ซึ่ง Agile ช่วยทำให้เราเข้าใจและสื่อสารกับลูกค้าของเราได้ชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้นตลอดทั้งโปรเจกต์ ช่วยให้เราสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมืออาชีพ ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เราทุกคนภาคภูมิใจ
หากคุณต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการทำงานของเรา ติดต่อเรา เพื่อรับคำปรึกษาฟรี